ตำนานวันตรุษจีน
ตรุษจีน เป็นวันสำคัญของจีนที่มีมาแต่โบราณที่เรียกว่า “กว้อชุนเจี๋ย” หรือ “กว้อเหนียน” เล่ากันว่าในสมัยโบราณ ในป่าทึบแห่งหนึ่ง มีสัตว์ป่าที่ดุร้ายและน่ากลัวมากตัวหนึ่ง เรียกว่า “เหนียน” ลักษณะคลายสิงโตทางตอนใต้ของจีนกลางศรีษะมีเขาขนยาวรุงรังมันออกอาละวาดกินคนเป็นประจำ เทพพระเจ้าจึงลงโทษมันไม่ให้ออกไปทำร้ายใคร และอนุญาตให้มันลงมาจากเขาได้เพียงหนึ่งครั้งใน 365 วัน ดังนั้น เมื่อฤดูหนาวใกล้จะผ่านไป ฤดูใบไม้ผลิเวียนมาใกล้ เหนียน ก็จะออกมาทำร้ายผู้คน เพื่อป้องกันการมาของ เหนียน ทุก ๆ ครัวเรือนจึงต่างสะสมเสบียงอาหาร และกับข้าวจำนวนหนึ่งไว้ในบ้าน เมื่อถึงตอนค่ำของวันที่ 30 เดือน 12 ก็จะปิดประตูและหน้าต่างเอาไว้ ไม่หลับไม่นอนตลอดคืน เพื่อต่อสู้กับเหนียน จนกระทั่งถึงรุ่งเช้าก็จะเป็นวันแรม 1 ค่ำ เดือน 1 เมื่อ เหนียน กลับไปแล้ว ทุก ๆ ครัวเรือนก็จะเปิดประตูออกมาแสดงความยินดีต่อกัน ที่โชคดีไม่ได้ถูกเหนียน ทำร้าย
ต่อมาพบว่า เหนียน มีจุดอ่อน มีอยู่ครั้งหนึ่ง เมื่อ เหนียน มาถึงหมู่บ้านแห่งหนึ่ง มีเด็กกลุ่มหนึ่งกำลังหวดแส้เล่นกัน เมื่อ เหนียน ได้ยินเสียงแส้ดังเปรี้ยงปร้างก็เลยตกใจเผ่นหนีไป เมื่อ เหนียน ไปถึงหมู่บ้านอีกแห่งหนึ่ง เห็นมีชุดเสื้อผ้าสีแดงตากอยู่หน้าบ้านของครอบครัวหนึ่ง สีแดงฉูดฉาดนั้น ทำให้ เหนียน ตกใจและเผ่นหนีไปอีก เมื่อ เหนียน มาถึงหมู่บ้านแห่งที่สาม ปรากฏว่าไปพบเห็นกองเพลิงกองหนึ่งบนถนน แสงเพลิงที่เจิดจ้าทำให้ เหนียน ต้องเผ่นหนีไปอีก ตั้งแต่นั้นมา ผู้คนต่างรู้ว่า แม้ว่า เหนียน จะดุร้ายแต่มันก็กลัวสีแดง เสียงดัง และไฟ ทำให้ผู้คนสามารถคิดหาวิธีกำจัด เหนียน ได้โดยไม่ยากนัก
เมื่อวันส่งท้ายตรุษจีนเวียนมาอีกครั้งหนึ่ง ทุก ๆ ครัวเรือนจึงต่างนำกระดาษสีแดงมาติดไว้บนประตูหน้าบ้าน แขวนโคมไฟสีแดง พร้อมกับจุดประทัดและตีฆ้องรัวกลองอย่างต่อเนื่อง เมื่อ เหนียน มาถึงในตอนเย็น เห็นทุก ๆ ครัวเรือนมีแสงไฟสว่างไสว มีเสียงประทัดดังสนั่นจึงตกใจเผ่นหนีกลับเข้าป่าไป และไม่กล้าออกมาอาละวาดอีก ทุก ๆ คนจึงผ่านพ้นคืนแห่งอันตรายไปอย่างปลอดภัย เมื่อฟ้าสางแล้ว ผู้คนจึงออกมาจากบ้าน กล่าวคำอวยพรซึ่งกันและกันอย่างมีความสุข พร้อมกับการนำอาหารออกมารับประทานร่วมกันอย่างสนุกสนานต่อมา วันดังกล่าวจึงกลายมาเป็นวันเฉลิมฉลองที่มีแต่ความสุขที่เรียกกันว่า "ตรุษจีน"
ประวัติวันตรุษจีน
ตรุษจีน เป็นเทศกาลที่สำคัญที่สุดของจีน เพราะชาวจีนถือว่า วันตรุษจีน คือวันขึ้นปีใหม่ตามปฎิทินจีน เช่นเดียวกับสงกรานต์วันปีใหม่ไทย ดังนั้นชาวจีนจึงให้ความสำคัญกับเทศกาลนี้เป็นอย่างยิ่ง และมีการเฉลิมฉลองทั่วโลกโดยเฉพาะชุมชนขนาดใหญ่ของคนเชื้อสายจีน ซึ่งในแต่ละพื้นที่ก็จะมีพิธีเฉลิมฉลองแตกต่างกันไป
สำหรับที่มาของ วันตรุษจีน นั้น เชื่อกันว่าประเพณีนี้มีมานานกว่าสี่พันปีแล้ว จัดขึ้นเพื่อฉลองเทศกาลฤดูใบไม้ผลิ เดิมที่ไม่ได้เรียกว่าเทศกาลตรุษจีน แต่มีชื่อเรียกต่างกันตามยุคสมัย นั่นคือเมื่อ 2100 ปีก่อนคริสตศักราชจะเรียกว่า "ซุ่ย" ซึ่งมีความหมายถึงการโคจรครบหนึ่งรอบของดาวจูปิเตอร์ จนกระทั่งต่อมาในยุค 1,000 กว่าปีก่อนคริสตศักราช เทศกาลตรุษจีนจะถูกเรียกว่า "เหนียน" หมายถึงการเก็บเกี่ยวได้ผลอุดมสมบูรณ์นั่นเอง
นอกจากนี้ วันตรุษจีน ยังมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "วันชุงเจ๋" ซึ่งหมายถึงเทศกาลดูใบไม้ผลิ หรือขึ้นปีเพาะปลูกใหม่ เพราะช่วงก่อนตรุษจีนนั้นตรงกับฤดูหนาว ไม่สามารถทำการเกษตรได้ ดังนั้นเมื่อเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิที่มีอากาศเหมาะสมแก่การเพาะปลูก ชาวจีนจึงสามารถทำนา ทำสวน ได้อีกครั้งหลังจากผ่านพ้นฤดูหนาวมานั่นเอง
ส่วนการกำหนด วันตรุษจีน นั้น ตามประเพณีเทศกาลตรุษจีนจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 23 เดือน 12 ตามปฏิทินจันทรคติของจีน ไปจนถึงวันขึ้น 15 ค่ำเดือนอ้ายตามปฏิทินจันทรคติของจีน และถือว่าคืนวันที่ 30 เดือน 12 เป็นวันส่งท้ายปีเก่า ส่วนวันที่ 1 เดือน 1 คือวันชิวอิก หมายถึงวันแรกของฤดูใบไม้ผลิ
การเตรียมงานเพื่อการเฉลิมฉลองเทศกาลตรุษจีนนั้น จะเริ่มขึ้นตั้งแต่หนึ่งเดือนก่อน วันตรุษจีน (คล้ายกับวัน คริสต์มาสของประเทศตะวันตก) โดยผู้คนจะเริ่มซื้อข้าวของต่างๆ เพื่อประดับตกแต่งบ้านเรือน และเตรียมทำความสะอาดครั้งใหญ่ ตั้งแต่ชั้นบนลงชั้นล่าง เนื่องจากมีความเชื่อว่าจะเป็นการปัดกวาดสิ่งที่ไม่ดีออกไป ภายในบ้านทั้งประตู หน้าต่าง จะประดับประดาไปด้วยสีแดง และกระดาษสีแดงที่มีคำอวยพรให้อายุยืน ร่ำรวย อยู่ดีมีสุข ฯลฯ
จากนั้นครอบครัวจะร่วมรับประทานอาหารที่ล้วนแต่มีความหมายมงคลทั้งสิ้น เช่น กุ้งจะหมายถึงชีวิตที่รุ่งเรืองและความสุข เป๋าฮื้อแห้งหมายถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่ดี สลัดปลาสดจะนำมาซึ่งความโชคดี จี้ไช่ (ผมเทวดา) สาหร่าย จะนำความร่ำรวยมาให้ และขนมต้ม (Jiaozi) หมายถึงบรรพชนอวยพร หลังจากทานอาหารค่ำแล้ว ทุกคนในครอบครัวจะนั่งกันจนเช้าเพื่อรอวันใหม่โดยการเล่นเกม เล่นไพ่ หรือดูรายการทีวีที่เกี่ยวกับ วันตรุษจีน และในวันนี้จะต้องไม่โกรธ ริษยา หรือ ไม่พอใจ เพื่อเป็นสิริมงคลที่ดีสำหรับปีที่กำลังจะมาถึง
ช่วงเทศกาล จะมีการหยุดงาน หยุดกิจการค้า เพื่อทำพิธีไหว้เจ้าที่ ต้องไหว้ 2 วันซ้อน ซึ่งมีไหว้กลางดึกด้วยนอกจากนี้ก็จะได้ใช้เวลาในช่วงนี้ไปเยี่ยมคารวะผู้ใหญ่ญาติมิตรที่เคารพนับถือและเที่ยว พักผ่อน จึงมีสำนวน "วันจ่าย วันไหว้ วันถือ"
วันจ่าย คือ วันก่อนสิ้นปี 1 วัน ใครจะต้องซื้อหาเตรียมของอะไรแล้วยังไม่เรียบร้อย ก็ให้ทำ ให้เสร็จในวันจ่ายก่อนที่ร้านค้าจะหยุดยาว
วันไหว้ คือ การไหว้ในวันสิ้นปี จะเป็นการไหว้เจ้าที่ในตอนเช้า ตามด้วยการไหว้บรรพบุรุษ ในตอนสาย แล้วไหว้ผีไม่มีญาติในตอนบ่าย ซึ่งการไหว้ผีไม่มีญาตินี้ บางบ้านก็ไม่นิยมไหว้
วันถือ คือ วันตรุษจีน โดยถือกันว่าในวันนี้ทุกคนจะพูดและทำแต่สิ่งที่เป็นมงคล เช่น ไม่มีการพูดว่ากัน แต่จะกล่าวคำอวย พร"ซินเจียยู่อี่ ซินนี้ฮวดใช้" แปลเป็นไทยคือ ขอให้โชคดีปีใหม่นั่นเอง การถืออื่น ๆ ที่นิยมว่าถือกัน เช่น ห้ามจับไม้กวาดกวาดบ้าน เพราะอาจเป็นการกวาดสิ่งดีๆ ในบ้านออกไปแล้วกวาดสิ่งไม่ดี เข้ามา วันถือนี้ บางคนก็เรียกวันเที่ยว ซึ่งคงมาจากธรรมเนียมการแต๊ะเอีย ที่พอลูกหลานและลูกจ้างได้เงินแต๊ะเอีย ที่เปรียบได้กับ โบนัสพิเศษ ก็ไปเที่ยวกัน อย่างไรก็ตามในวันตรุษจีนถือเป็นธรรมเนียมที่จะต้องไปไหว้ญาติผู้ใหญ่ เรียกว่า "ไป๊เจีย"และมีการหิ้วส้มไปแลกเปลี่ยนกัน เพราะส้มนี้มีคำจีนเรียกว่า "ไต้กิก" แปลว่า โชคดี การแลกส้ม จึงมีความนัยว่าเอาความโชคดีมามอบให้แก่กัน พร้อมคำอวยพร โดยนิยมกันว่า เอาส้ม 4 ผล ใส่ผ้า เช็ดหน้าผืนใหญ่มาส่งให้เจ้าบ้าน เจ้าบ้านจะรับไว้แล้วนำส้ม 2 ผล ของแขกขึ้นมาเปลี่ยนเอาส้ม 2 ผล ของที่บ้านผลัดให้แทน บางบ้านที่ใช้ขนมอี๊ไหว้เจ้า ก็อาจมีการเตรียมขนมอี๊ไว้เลี้ยงแขกด้วย
นอกจากนี้อีกสิ่งหนึ่งที่ถือเป็นสัญลักษณ์ของ วันตรุษจีน คือ "อั่งเปา" ซึ่งมีความหมายว่า "กระเป๋าแดง" หรือจะใช้คำว่า "แต๊ะเอีย" ซึ่งมีความหมายว่า "ผูกเอว" จากที่คนสมัยก่อนชอบร้อยเงินเป็นพวงผูกไว้ที่เอว โดยการให้อั่งเปานี้ คู่แต่งงานจะให้เงินเด็กๆ และผู้ใหญ่ที่ยังไม่ได้แต่งงานในซองสีแดง หลังจากนั้นทุกคน ในครอบครัว จะออกมาจากบ้านเพื่อกล่าวสวัสดีปีใหม่ในหมู่ญาติ และด้วยเพื่อนบ้าน ซึ่งคงคล้ายกับการที่ชาวตะวันตกพูดว่า "Let bygones be bygones" (อะไรที่ผ่านไปแล้วก็ให้มันผ่านไป)
ความเชื่อโชคลางในวันตรุษจีน
ทุกคนจะไม่พูดคำหยาบหรือพูดคำที่ไม่เป็นมงคล ความหมายเป็นนัย และคำว่า สี่ ซึ่งออกเสียงคล้ายความตายก็จะต้องไม่พูดออกมา ต้องไม่มีการพูดถึงความตายหรือการใกล้ตาย และเรื่องผีสางเป็นเรื่องที่ต้องห้าม เรื่องราวต่างๆที่เกิดขึ้นในปีเก่าๆ ก็จะไม่เอามาพูดถึง ซึ่งการพูดควรมีแต่เรื่องอนาคต และทุกอย่างที่ดีกับปีใหม่และการเริ่มต้นใหม่
หากคุณร้องไห้ในวันปีใหม่ คุณจะมีเรื่องเสียใจไปตลอดปี ดังนั้นแม้แต่เด็กดื้อที่ปฎิบัติตัวไม่ดีผู้ใหญ่ก็จะทน และไม่ตีสั่งสอน
การแต่งกายและความสะอาด ในวันตรุษจีนเราไม่ควรสระผมเพราะนั้นจะหมายถึงเราชะล้างความโชคดีของเราออกไป เสื้อผ้าสีแดงเป็นสีที่นิยมสวมใส่ในช่วงเทศกาลนี้ สีแดงถือเป็นสีสว่าง สีแห่งความสุข ซึ่งจะนำความสว่างและเจิดจ้ามาให้แก่ผู้สวมใส่ เชื่อกันว่าอารมณ์และการปฏิบัติตนในวันปีใหม่ จะส่งให้มีผลดีหรือผลร้ายได้ตลอดทั้งปี เด็ก ๆ และคนโสด เพื่อรวมไปถึงญาติใกล้ชิดจะได้ อังเปา ซึ่งเป็นซองสีแดงใส่ด้วย ธนบัตรใหม่เพื่อโชคดี
วันตรุษจีนกับความเชื่ออื่น ๆ สำหรับคนที่เชื่อโชคลางมากๆ ก่อนออกจากบ้านเพื่อไปเยี่ยมเยียนเพื่อนหรือญาติ อาจมีการเชิญซินแส เพื่อหาฤกษ์ที่เหมาะสมในการออกจากบ้านและทางที่จะไปเพื่อ เป็นความเป็นสิริมงคล
บุคคลแรกที่พบและคำพูดที่ได้ยินคำแรกของปีมีความหมายสำคัญมาก ถือว่าจะส่งให้มีผลได้ตลอดทั้งปี การได้ยินนกร้องเพลงหรือเห็นนกสีแดงหรือนกนางแอ่น ถือเป็นโชคดี
การเข้าไปหาใครในห้องนอนในวันตรุษ ถือเป็นโชคร้ายดังนั้นไม่ว่าจะเป็นคนป่วยก็ต้องแต่งตัวออกมานั่งในห้องรับแขก
ไม่ควรใช้มีดหรือกรรไกรในวันตรุษเพราะเชื่อว่าจะเป็นการตัดโชคดี ทุกวันนี้ไม่ใช่ว่าชาวจีนทุกคนจะคงยังเชื่อตามความเชื่อที่มีมาแต่ทุกคนก็ยังคงยึดถือ และปฎิบัติตาม เพราะสิ่งเหล่านี้เปรียบเสมือนธรรมเนียม และวัฒนธรรม
การติดฮู้ เป็นธรรมเนียมที่นิยมถือทำในวันตรุษจีน เช่น การติด "ฮู้" หรือยันต์แผ่นใหม่ เพื่อคุ้มครองบ้าน ติด "ตุ้ยเลี้ยง" หรือแผ่นคำอวยพรที่ปากทางเข้าบ้าน
การไหว้เทพเจ้าแห่งโชคลาภปีนี้ 2555
ฤกษ์ที่ดีที่สุดในการไหว้เทพเจ้าแห่งโชคลาภในปีนี้ ตรงกับเช้ามืดของ วันจันทร์ที่ 23 มกราคม 2555 เวลา 24.01-24.59 น. (หลังเที่ยงคืนของวันอาทิตย์ที่ 22 มกราคม 2555) ซึ่งเป็นช่วงที่ฟ้าเปิด เป็นฤกษ์ที่ดีที่สุด โดยปีนี้องค์ไท้ส่วย จะเสด็จมาทาง ทิศ ใต้ (ซึ่งฤกษ์วันและเวลา จะเปลี่ยนไปทุกปี ไม่ตรงกัน รวมถึงทิศที่องค์ไท้ส่วยจะเสด็จมาด้วย)
ข้อมูล จากหนังสือ เสริมดวงชะตาปี ๒๕๕๕ ของ อ.ตั้งกวงจือ และ อ. ธนากร ตันอาวัชนการ เครื่องสักการะ บูชาเทพเจ้าแห่งโชคลาภ มีดังนี้
1. รูปภาพ หรือรูปปั้น องค์ไท้ส่วย หากไม่มี เวลาไหว้ ก็ให้ระลึกถึง
2. แจกันดอกไม้สด 1 คู่
3. เทียนแดง 1 คู่
4. กระถางธูป 1 ใบ(ปกติให้ใช้แยกต่างหาก เพราะเมื่อไหว้เสร็จแล้ว ต้อัญเชิญเข้าบ้าน และตั้งบูชาไว้ตลอดปี)
5. ธูป 3 ดอก ต่อหนึ่งท่าน
6. หงิ่งเตี๋ย 12 ชุด 7. กิมหงิ่งเต้า 1 คู่
8. เทียงเถ้าจี๊ 1 ชุด
9. ผลไม้ 5 อย่าง
10. สาคูแดงต้มสุก 5 ถ้วย (ต้มสาคู แล้วใส่น้ำแดงเฮลบลูบอยลงไป)
11. น้ำชา 5 ถ้วย
12. ข้าวสวย 5 ถ้วย
13. เทียบเชิญแดง 1 แผ่น (สำคัญมาก)
14. ขนมจันอับ 1 จาน
15. กระดาษสีเขียว 1 แผ่น (เทียบเชิญสีเขียว)
16. เจไฉ่ 5 อย่าง (เช่น เห็ดหอม, เห็ดหูหนู, ดอกไม้จีน, วุ้นเส้น, ฟองเต้าหู้)
ซึ่งหาได้ครบหรือไม่ครบ ก็ไม่เป็นไรครับ ที่สำคัญที่สุด คือต้องมีเทียบเชิญสีแดง และสีเขียว สองอย่างนี้ จำเป็น เพราะเราต้องเขียนชื่อและที่อยู่ของเราลงไป รวมถึงเขียนเชิญ องค์ไท้ส่วย ถ้าหาไม่ครบไม่เป็นไรเพียงแต่เวลาและทิศทาง ให้ถูกต้องตามฤกษ์ของปีนี้.
การประกอบพิธีไหว้
ให้จัดเตรียมของไหว้ทุกอย่างลงบนโต๊ะพร้อมทั้งหันหน้าไปทางทิศที่องค์ไฉ่ซิ่งเอี้ย จะเสด็จมา โดยให้ทุกคนอยู่หน้าโต๊ะ และผู้ที่ไหว้ หันหน้าไปทาง ทิศใต้ ให้นำเทียบเชิญสีเขียว(เพื่อเชิญเทพเจ้า) มาวางไว้บนโต๊ะในทิศที่อัญเชิญเทพเจ้า แล้วนำเทียบสีแดงมาเขียนขอพรจากเทพเจ้า(ตามต้องการของแต่ละบ้าน) และให้ลงชื่อ นามสกุล และวันเดือนปีเกิด ของแต่ละคน ของทุกคนในบ้านลงไป(รวมถึงคนที่อาจไม่ได้มาร่วมไหว้ในวันนี้ แต่เป็นคนในบ้านของท่าน) และเขียนคำขอที่ต้องการให้เทพเจ้าแห่งโชคลาภ ประทานมาให้ในปีนี้
สำหรับคำกล่าวอัญเชิญเทพเจ้าไฉ่ซิ่งเอี้ย ให้เปล่งเสียงหรืออธิษฐานในใจ กล่าวว่า "วันนีข้าพเจ้า........ ขอเรียนเชิญองค์ไฉ่ซิ่งเอี้ย มารับเครื่องสักการะบูชา ซึ่งมี(กล่าวถึงสิ่งที่ท่านได้จัดเตรียมและนำมาถวาย) และหลังจากองค์ท่านได้รับเครื่องสักการะเหล่านี้แล้ว จงประทานพรให้ครอบครัวของข้าพเจ้าทุกคน จงประสบแต่โชคลาภความสุข และความสำเร็จ สมดังที่มุ่งหวังทุกประการ" (หากท่านมีขอสิ่งใดเป็นพิเศษ ก็ขอต่อไปได้)
หลังจากทำพิธีเสร็จแล้ว ให้นำของไหว้ที่เป็นกระดาษทั้งหมด รวมถึงเทียบเชิญสีแดง และสีเขียว ไปเผาไฟในภาชนะที่เตรียมไว้ จึงจะสัมฤทธิ์ผล แล้วอัญเชิญองค์ไท้ส่วย กระถางธูป เทียนแดง นำเข้าบ้าน ปิดประตูบ้าน เพื่อเชิญองค์ไท้ส่วยเข้าบ้าน ส่วนของที่รับประทานได้ จะทานเลย หรือเก็บไว้ทานวันหลังก็ได้ แต่ไม่ควรทิ้งไป เพราะถือเป็นของมงคล หากไม่สะดวก หรือไม่มีเวลาจัดเตรียม แต่มีแรงศรัทธา ก็ใช้เพียงธูปเทียน จุดธูปกล่าวอัญเชิญท่าน ตามฤกษ์และทิศทางที่ท่านจะเสด็จมา โดยตัวคุณต้องหันหน้าไปทาง ทิศเหนือ และกล่าวคำสักการะและขอพรจากเทพเจ้าแห่งโชคลาภ จากนั้นปักธูปลงในกระถาง แล้วกล่างอัญเชิญท่าน เข้ามาทางประตูบ้าน
คาถาบูชา เทพเจ้าไฉ่ซิ่งเอี๊ยะ
ของพุทธตันตระ ฝ่ายมหายาน "คาถาหัวใจมหาเศรษฐีชัมภล"
"โอม ชัมภาลา จาเลน ไนเยน สวาหะ"
สำหรับท่านที่เกิดปีต่าง ๆ ทั้ง 12 นักษัตร อันเป็นหัวใจคาถาของทิเบตจารึก เป็นภาษาสันสกฤตมาแต่ครั้งโบราณ โดยให้ตั้งจิตให้สงบระลึกถึงความดี และบุญกุศลที่ได้ประกอบมา แล้วท่องคาถาหัวใจมหาเศรษฐีชัมภล อธิษฐานขอพรจากท่าน
ท่านที่เกิดในปี ฉลู - มะโรง - มะแม - จอ
คาถาหัวใจมหาเศรษฐีชัมภล คือ "โอม ชัมภาลา จาเลน ไนเยน สวาหะ"
ท่านที่เกิดในปี ขาล - เถาะ
คาถาหัวใจมหาเศรษฐีชัมภล คือ "โอม อา ฮูโฮฮัม กษะสะ โอม ชัมภาลา ลาจาเลน ไนเยน สวาหะ"
ท่านที่เกิดในปี มะเส็ง - มะเมีย
คาถาหัวใจมหาเศรษฐีชัมภล คือ "โอม ชัมภาลา จาเลน ไนเยน ธะนัม เมธิ หะรี ทากินี ชัมภาลา สะมะภารา สวาหะ"
ท่านที่เกิดในปี วอก - ระกา
คาถาหัวใจมหาเศรษฐีชัมภล คือ "โอม ปัทมะ โกรธะ อรยะ ชัมภาลา หฤทัย หู ผะฏะ"
ท่านที่เกิดในปี กุน - ชวด
คาถาหัวใจมหาเศรษฐีชัมภล คือ "โอม ชัมภะละ ชะเลนทะรา เย สะวาหา โอม อินทะระ ฌิมขัม ภะมะริ สวาหา"
คนไทยเรารู้จักนับถือในนามท้าวเวสสุวรรณ มีรูปร่าง 2 แบบ แบบเป็นเทพเทวาสวยงาม กับอีกแบบเป็นรูปยักษ์ ซึ่งเรามักรู้จักในแบบยักษ์มากกว่า ท้าวเวสสุวรรณเป็นเทพแห่งโชคลาภ องค์เทพประจำทิศเหนือ ผู้ปกครองภูตผี และดูแลทรัพย์สมบัติของทั้ง 3 โลก สามารถดลบันดาลทรัพย์สิน เงินทอง โชคลาภแก่ผู้บูชานับถือ ปกป้องคุ้มครองภัยอันตราย ภูตผีปีศาจเกรงกลัวนัก ไว้วันหลังจะเล่าประวัติทั้งแบบไทยและแบบจีนให้ฟังแบบพิศดาร ได้ฟังแล้วต้องนับถือมากยิ่งขึ้นกันเลยที่เดียว.
คาถาท้าวเวสสุวรรณ หรือ ไฉ่ซิงเอี๊ย (จีน)
อิติปิ โส ภะคะวา ยมมะราชาโน ท้าวเวสสุวรรณโณ มะระณัง สุขัง อะหัง สุคะโต นะโม พุทธายะ ท้าวเวสสุวรรณโณ จาตุมะหาราชิกา ยักขะพันตาภัทภูริโต เวสสะ พุสะ พุทธัง อะระหัง พุทโธ ท้าวเวสสุวรรณโณ นะโม พุทธายะ.
ความหมายของ ของไหว้วันตรุษจีน
เนื้อสัตว์
หมู หมายถึง ความมั่งคั่ง ความอุดมสมบูรณ์
ไก่ หมายถึง 2 นัย คือ ความเจริญก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่การงาน เพราะหงอนไก่มีลักษณะคล้ายกับหมวกขุนนาง หรือหมายถึงความขยันและตรงต่อเวลา เพราะไก่จะขันเป็นประจำทุกเช้า
เป็ด หมายถึง ความสามารถอันหลากหลาย
ปลาทั้งตัว หมายถึง ความอุดมสมบูรณ์เหลือกินเหลือใช้
ปลาหมึกแห้ง หมายถึง อำนาจวาสนา นอกจากนั้นหนวดปลาหมึกยังหมายถึงการเกี่ยวเอาโชคลาภให้เข้ามา
ขนมหวาน
ขนมถ้วยฟู หมายถึง ความเจริญเฟื่องฟู
ขนมจันอับ หมายถึง เจริญงอกงามดั่งเมล็ดธัญพืช
ซาลาเปา หมายถึง การห่อโชค ห่อเงินห่อทอง
ขนมบัวลอยหรือขนมอี๋ หมายถึง ให้ชีวิตมีความหวานและง่าย
ซิ่วท้อ หมายถึง การมีสุขภาพที่แข็งแรงอายุยืนยาว
ผลไม้
ส้ม หมายถึง โชคดี
กล้วย หมายถึง การมีลูกหลานมาก หรือการเรียกโชคลาภเข้าบ้าน
แอปเปิ้ล หมายถึง การมีสุขภาพแข็งแรงไม่เจ็บไม่ไข้ ความสงบ
สับปะรด หมายถึง การมองเห็นที่กว้างไกลมีวิสัยทัศน์เหมือนตาสับปะรด
องุ่น หมายถึง ความมั่งคั่งหรือสุขภาพแข็งแรง
สาลี่ หมายถึง เงินทองไหลมาเทมา
คำอวยพรตรุษจีน
คำอวยพร : ซินเจียยู่อี่ ซินนี้ฮวกใช้
คำแปล : ปีใหม่ขอให้ทุกอย่างสมหวัง ปีใหม่ขอให้ร่ำรวย
คำอวยพร : ซินเจิ้งหรูอี้ ซินเหนียนฟาไฉ
คำแปล : ปีใหม่ขอให้ทุกอย่างสมหวัง ปีใหม่ขอให้ร่ำรวย
คำอวยพร : เจาไฉจิ้นเป้า
คำแปล : เงินทองไหลมาเทมา ทรัพย์สมบัติเข้าบ้าน
คำอวยพร : ฟู๋ลู่ซวงฉวน
คำแปล : ศิริมงคลเงินทองอำนาจวาสนา
คำอวยพร : จู้หนี่เจี้ยนคัง
คำแปล : ขอให้คุณสุขภาพแข็งแรง
คำอวยพร : จู้หนี่ฉางโส่ว
คำแปล : ขอให้คุณอายุยืนยาว
คำอวยพร : จู้หนี่ซุ่นลี่
คำแปล : ขอให้คุณประสบความสำเร็จ
คำอวยพร :จู้ หนิน วั่น ซื่อ หรู อี้
คำแปล : ขอให้ท่านสมปรารถนาทุกประการ
คำอวยพร : ฟู๋ลู่ซวงฉวน
คำแปล : ศิริมงคลเงินทองอำนาจวาสนา
คำอวยพร :กง สี่ ฟา ไฉ
คำแปล : ขอแสดงความยินดี และให้ร่ำรวยเงินทอง
คำอวยพร :จู้ หนิน ปู้ ปู้ เกา เซิง
คำแปล : ขอให้ท่านเจริญก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไป
***ปล.ใครที่ดูดวง ดูฮวงจุ้ยกับอาจารย์ เคน ปีที่แล้ว เป็นการปูพื้นดวง(ดูครั้งแรก)ปีนี้ให้ไปดูใหม่ ปีนี้อาจารย์จะบอกวิธีให้ถือหลักล้านขึ้นเรียกว่าปรับแบบเต็มรูปแบบ อ้ออีกอย่าง ใครที่ยังไม่ได้แก้ตามที่อาจารย์บอกก็ยังไม่ต้องมา เพราะมาก็ต้องไล่ให้ไปทำแบบเดิมก่อน ปูพื้นดวงก่อนให้ไปจับเงินแสนให้ได้ก่อน ปีหน้าค่อยมาคุยเรื่องเงินล้าน หรือใครมีปัญหาอะไรติดขัด ความรัก สุขภาพ ดวงชง ดวงเชิงก็ลองปรึกษากับอาจารย์ก่อนได้.
เบอร์ติดต่อ อาจารย์อยู่หน้า Contact. ไม่ต้องโทรหาผมเด้อ.