ประวัติวันมาฆบูชา

ประวัติวันมาฆบูชา

วันมาฆบูชา ย่อมาจากคำว่า "มาฆปุรณมีบูชา" แปลว่า การบูชาพระในวันเพ็ญเดือน 3 ถือเป็น "วันจาตุรงคสันนิบาต" แปลว่า การประชุมอันประกอบด้วยองค์ 4 ซึ่งเป็นเหตุการณ์อัศจรรย์ที่เกิดขึ้นพร้อมกันในสมัยพุทธกาล หลังจากพระพุทธเจ้าตรัสรู้ได้ 9 เดือนขณะนั้นเมื่อเสร็จพุทธกิจแสดงธรรมที่ถ้ำสุกรขาตาแล้ว เสด็จมาประทับที่วัดเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ ประเทศอินเดียในปัจจุบัน วันนั้นตรงกับวันเพ็ญ เดือนมาฆะหรือเดือน 3ในเวลาบ่ายพระอรหันต์สาวกของพระพุทธเจ้า มาประชุม พร้อมกัน ณ ที่ประทับของพระพุทธเจ้า นับเป็นเหตุอัศจรรย์ ที่มีองค์ประกอบสำคัญ 4 ประการ คือ

1.วันมาฆบูชา เป็นวันที่ พระสงฆ์จำนวน 1,250 รูป ซึ่งจาริกไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในสถานที่ต่างๆ ได้เดินทางมาเฝ้าพระพุทธเจ้า ณ วัดเวฬุวันมหาวิหาร วัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนา ที่เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ ซึ่งตรงกับวันเพ็ญเดือนมาฆะ (วันเพ็ญกลางเดือน 3 พระจันทร์เต็มดวง)

2.วันมาฆบูชา เป็นวันที่พระสงฆ์จำนวน 1,250 รูปเหล่านี้ ล้วนเป็นพระอรหันต์ เป็นผู้ทรงอภิญญา 6 และเป็นพระสงฆ์ที่ได้รับการบวชจากพระพุทธเจ้าโดยตรง ซึ่งเรียกว่า "เอหิภิกขุอุปสัมปทา"

3.พระสงฆ์จำนวน 1,250 รูป ต่างมาประชุมพร้อมเพรียงกันโดยมิได้มีการนัดหมาย กันในวันมาฆบูชานี้

4.วันมาฆบูชา เป็นวันที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงธรรมเทศนา อันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา คือ "โอวาทปาติโมกข์"

พระพุทธองค์ได้ทรงแสดง "พระโอวาทปาติโมกข์" คือหลักคำสอนที่เป็นหัวใจสำคัญของพระพุทธศาสนา โดยตรัสเป็นพระคาถา ดังต่อไปนี้

สัพพะปาปัสสสะ อะกะระณัง, การไม่ทำบาปทั้งปวง,

กุสะลัสสูปะสัมปะทา, การทำกุศลให้ถึงพร้อม,

สะจิตตะปะริโยทะปะนัง การชำระจิตของตนให้บริสุทธิ์ผ่องใส,

เอตัง พุทธานะสาสะนัง, ธรรม ๓ อย่างนี้ เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย.

ขันตี ปะระมัง ตะโป ตีติกขา, ขันติ คือความอดกลั้น เป็นธรรมเครื่องเผากิเลสอย่างยิ่ง,

นิพพานัง ปะระมัง วะทันติ พุทธา, ผู้รู้ทั้งหลาย กล่าวพระนิพพานว่าเป็นธรรมอันยิ่ง,

นะ หิ ปัพพะชิโต ปะรูปะฆาตี, ผู้กำจัดสัตว์อื่นอยู่ ไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิตเลย,

นะ สะมะโณ โหติ ปะรัง วิเหฐะยันโต, ผู้ทำสัตว์อื่นให้ลำบากอยู่ ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะเลย.

อะนูปะวาโท อะนูปะฆาโต, การไม่พูดร้าย, การไม่ทำร้าย,

ปาติโมกเข จะ สังวะโร, การสำรวมในปาติโมกข์,

มัตตัญญุตา จะ ภัตตัสมิง, ความเป็นผู้รู้ประมาณในการบริโภค,

ปันตัญจะ สะยะนาสะนัง, การนอน การนั่ง ในที่อันสงัด,

อะธิจิตเต จะ อาโยโค, ความหมั่นประกอบในการทำจิตให้ยิ่ง,

เอตัง พุทธานะสาสะนัง. ธรรม ๖ อย่างนี้ เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย.

ทั้งหมดรวมลงในหลักง่าย ๆ คือ การไม่ทำบาปทั้งปวง ทำความดีให้ถึงพร้อม และทำจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์ ก็คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ถ้าต้องการจะทำให้ได้จริง ๆ ต้องมีจุดมุ่งหมายเดียวคือ นิพพาน ถึงจะยังรักษาความดีเอาไว้ได้ ไม่อย่างนั้น ทำไป ๆ ก็จะเกิดการไขว้แขว โลเล หลงในความดี หลงฤทธิ์ หลงธรรม หลงในอวิชชา ตัณหา และอุปทาน กลายเป็นเจ้าลัทธิ กลายเป็นร่างทรง หรือแม้กระทั่งกลายเป็นคนบ้า ๆ บอ ๆ ไม่สนคน สนโลก หาจุดหมายปลายทางไม่ได้ แต่ก็ยังเรียกได้ว่าดี เพียงแต่ปัญญายังไม่เท่าทันเท่านั้น ในพุทธประวัติพุทธองค์ทรงทำเป็นตัวอย่าง ท่านต้องการหนทางหลุดพ้นจากวัตสงสาร การเวียนวายตายเกิด เมื่อท่านบรรลุธรรมแล้วท่านจึงตรัสว่า มีนิพพานเป็นที่ตั้ง มีนิพพานเป็นที่ไป คือเริ่มต้นที่นิพพาน และจบที่นิพพาน สาธุ.


                                                                       กลับ