ทำอย่างไรให้เข้าใจและเข้าถึงธรรมะ

                 เป็นเรื่องยากที่คนเราจะเข้าใจและสนใจธรรมะที่องค์สมเด็จพระพุทธเจ้าท่านทรงตรัสรู้และได้ประกาศสัจจะธรรมที่พระองค์ทรงค้นพบเพราะการที่คนเราจะเข้าไปอยู่ในเขตแดนธรรมนี้ได้ก็ต้องทำความรู้จักและเข้าใจความจริงของธรรมกันก่อน ถ้าเราไม่เข้าใจก็จะทำให้เราขาดความมั่นคงในธรรมที่ได้พบประสบมา แต่สำหรับคนที่เขาเข้าใจแล้วก็เป็นเรื่องง่าย เหมือนเราหัดขี่จักรยาน ใหม่ ๆ มันก็ยากพอเราเข้าใจชำนาญ ทีนี้ก็สามารถเล่นท่าต่าง ๆ ได้ ปล่อยมือขี่ได้ หรือสาระพัดที่เราจะทำ ยกหน้า ยกหลัง มันก็จะง่ายไปหมด เรื่องของเรื่องก็คือเรายังไม่เข้าใจ รู้จักธรรมะแท้ ๆ หรือได้แล้วก็ไม่รู้จัก มันก็กลายเป็นหลงกล หลงทางแล้วก็เบื่อ สุดท้ายก็เลิก          
                 ธรรมะ คือ สัจจะ คือ ความจริง ทุก ๆ สิ่ง ทุก ๆ อย่าง มีเป็นคู่ อาทิเช่น ชาย-หญิง สูง-ต่ำ ดำ-ขาว รัก-เกลียด ดีใจ-เสียใจ ได้มา-เสียไป ดี-เลว ไฟ-น้ำ บวก-ลบ ก้าวหน้า-ถอยหลัง ดินสอ-ยางลบ อิ่ม-หิว เข้า-ออก และอีกมากมายในโลกนี้ ถ้าเป็นภาษาธรรมท่านก็เรียกว่า "โลกธรรม 8" ไม่ว่าคุณจะเอาอะไรมา สิ่งนั้น ๆ ก็มีอีกสิ่งเป็นคู่ปรับกัน เพียงแต่เราอาจไม่รู้ หาไม่เจอนะตอนนี้ ทีนี้เมื่อเรารู้แล้วว่าธรรมะคืออะไร เราก็ทำความเข้าใจว่าธรรมะที่ว่านั้นเป็นสัจจะ ความจริงไหม ถ้าจริงแสดงว่าธรรมที่ประสบ พบเห็น หรือบอกกล่าวมานั้นเชื่อถือได้ เมื่อเชื่อถือได้ ธรรมที่ประสบ หรือผู้บอกกล่าวธรรมนั้นก็เชื่อถือได้เช่นกัน สำหรับผู้ที่ต้องการศึกษาธรรมควรมีหลักยึดเพราะยุคสมัยนี้คนเรามักมีการโกหก หลอกลวงกัน เราก็ต้องมีหลักประจำใจไว้สำหรับยึดเกาะ กันหลง คนเราไว้ใจได้ยากแต่ธรรมะนั้น ไม่มีโกหก ไม่มีหลอกลวง หลักที่ใช้ยึดก็คือ สัจจะ ความจริง สวรรค์ไม่ได้สร้างด้วยเงินเท่านั้น เท่านี้ นรกก็ไม่ได้สร้างด้วยทองเท่านั้น เท่านี้ หรือถ้าเป็นคำพูดอาจจะเชื่อถือได้ยาก ก็ยึดกฏบัญญัติ ที่เรียกว่าศีลเป็นบาทฐานไว้ก่อนหลักอันไหนขัดกับศีล ก็แสดงว่าธรรมนั้น ๆ ใช้ไม่ได้หรือไม่จริงดังนี้
                เมื่อเรารู้จักธรรมนั้นแล้วเราจะรักษาธรรม มั่นคงในธรรมที่ได้มาแล้วนั้นอย่างไร ตอบเมื่อเราเข้าถึงธรรม ธรรมนั้นก็จะเป็นผู้รักษาเราแทน เพราะผู้เข้าถึงธรรม ธรรมย่อมรักษาผู้นั้น เปรียบเสมือนเราปลูกต้นไม้ รดน้ำ พรวดดิน ใส่ปุ๋ยเมื่อเติบโตต้นไม้นั้นก็จะให้ร่มเงา ให้ดอก ให้ผล ธรรมะก็จะเป็นเช่นนั้น การรดน้ำ พรวนดิน ใส่ปุ๋ย ก็คือการที่เราเริ่มรู้จักและเข้าใจธรรมะ ไปที่ละเล็ก ละน้อย จนเมื่อเรามั่นคงและเข้าถึงธรรมแล้วเมื่อนั้นธรรมนั้นก็จะให้ดอกให้ผล ฉันใดฉันนั้น
                การเดินทางธรรมนั้นจะว่ายากก็ยาก จะว่าง่ายก็ง่าย ไล่กันไปตั้งแต่ธรรมะหยาบ ๆ จนถึงธรรมที่ละเอียด รู้จัก เข้าใจ เข้าถึง ไปเรื่อย ๆ เหมือนเคล็ดวิชาธรรมกาย ท่านว่าเดินหน้าไม่ถอยหลัง เจอธรรมข้อไหนก็ทำเหมือนกัน เมื่อเราประสบธรรม ก็แสดงว่าเราได้รู้จักธรรมนั้น ๆ แล้ว เมื่อเรารู้จักธรรมนั้นแล้วก็ทำความเข้าใจกับธรรมนั้น ๆ การทำความเข้าใจก็เอาสัจจะเข้าประกอบคือความจริง เมื่อเรารู้ว่าธรรมนั้นเป็นจริงก็แสดงว่าเราเข้าใจธรรมนั้นแล้ว เมื่อเข้าใจธรรมนั้นแล้วเรายินยอมและยอมรับธรรมนั้น ก็แสดงว่าเราเข้าถึงธรรมแล้ว ลักษณะอาการก็จะเป็นเหมือนเป็นตัวของเราเอง ไม่แยกจากกัน ธรรมคือเรา เราคือธรรม "นี่คือการเข้าถึง" เรื่องการรักษาธรรมไม่ต้องพูดถึงเพราะธรรมนั้นกลายมาเป็นตัวเราเสียแล้วก็ไม่ต้องทำอย่างไรแล้ว สิ่งที่เราต้องทำก็คือ ทำความเข้าใจในธรรมให้มาก เรื่องวิชาต่าง ๆ ก็เป็นเครื่องประกอบในการเข้าใจธรรม ทีนี้ธรรมะง่ายหรือยากหล่ะ ที่ว่ายากคือเราไม่ยอมรับธรรมมาเป็นส่วนหนึ่งของเรา เพราะธรรมส่วนใหญ่มักอยู่ตรงข้ามกับความรัก ความชอบ ของเราเอง ส่วนผู้ที่ยอมรับธรรม คำว่าไม่สำเร็จธรรม จึงไม่มีอีกต่อไป.

ภาพวาดพุทธประวัติ