การฝึกสติปัฏฐาน

วันนี้ขอเข้าหลักการบ้างเพราะเห็นว่ามีหลาย ๆ ท่านเข้าใจการฝึกสติปัฏฐานกันผิด ๆ ก็จะทำให้คลาดเคลื่อนจากธรรมไปได้ เห็นเป็นเรื่องเร่งด่วนเลยต้องขออนุญาตแซง เรื่องเกี่ยวกับการสร้างวิมานในอากาศในรูปแบบต่าง ๆ กัน ที่เล่าไปครั้งก่อนเป็นเรื่องของคนที่ชอบเหม่อมองท้องฟ้า ก็ขอยกยอดไปก่อนมาว่ากันเรื่องใหญ่กันก่อน
             สติปัฏฐาน คือ ฐานที่ตั้งของสติ มีอะไรบ้างก็มีฐานทั้งสี่ กาย เวทนา จิต ธรรม
กายาคสติ คือ การมีความระลึกรู้กาย สติตั้งมั่นกับร่างกาย ทุก ๆ อริยาบท ยืน เดิน นั่ง นอน
เวทนาคสติ คือ การมีความระลึกรู้เวทนา สติตามติดกับเวทนาที่เกิด ตามดู ตามรู้ ตามเห็น รู้กับเวทนาที่เกิดขึ้น
จิตตาคสติ คือ การมีความระลึกรู้ตามจิต ที่เกิด นึก คิด พิจารณา หรือเฉย ๆ
ธรรมานุสติ คือ การมีความระลึกรู้ทันธรรมที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป รู้ธรรม เห็นธรรม เข้าใจธรรม มีความโลภ โกรธ หลงเกิดขึ้น

             เหล่านี้เป็นพื้นฐานในการทำความเข้าใจสติปัฏฐานในแต่ละข้อ ส่วนวิธีปฏิบัตินั้นให้เราเลือกเอาตามความพอใจ จะเลือกทำเพียงข้อเดียวก็ได้ หรือทำทั้งหมดก็ได้ ในการเลือกปฏิบัตินั้นให้ใช้ความรู้สึกเป็นเกณฑ์ในการเลือกวิธีปฏิบัติ ข้อไหนรู้สึกว่าเราทำได้ง่ายก็ให้เลือกทำข้อนั้น ๆ ก่อน เช่น เรารู้สึกว่าการตามดูกายง่ายสุด ก็ใช้วิธีดูกาย เรารู้สึกว่าการดูเวทนาง่ายสุด เราก็ตามดูเวทนา เรารู้สึกว่าการดูจิต ดูธรรม ง่ายสุดก็ใช้วิธีตามดูจิต ดูธรรม ขึ้นอยู่กับความสะดวกกับจิตเรา เรารู้สึกอันไหนเหมาะก็เลือกวิธีนั้น ก็จะทำให้ได้ผลง่าย และเร็ว ไม่ต้องกังวลว่าเรารู้สึกกายแล้วจะทำให้ไม่เกิดธรรม หรือ ไม่ครบองค์ของสติปัฏฐาน ในทางปฏิบัติทั้งสี่วิธีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน คือ ทำอันใดอันหนึ่งแต่ก็สำเร็จทั้งสี่ แยกกันแค่วิธีปฏิบัติ แต่เมื่อลงมือปฏิบัติแล้วก็จะรวมเป็นอันเดียวกัน ก็คือ ถ้าเราฝึกโดยการระลึกรู้กาย เมื่อระลึกรู้กายทำไป ๆ ก็เกิดเวทนาขึ้นกับกาย ก็เท่ากับเราระลึกรู้เวทนาด้วย เมื่อเรารู้เวทนา เราก็ระลึกรู้จิตด้วยเพราะจิตเป็นตัวจับอารมณ์ เมื่อเรารู้จิต ก็ระลึกรู้ธรรมด้วย เพราะธรรมเป็นตัวตัดสินอารมณ์ของจิต ธรรมที่เกิดก็เช่น ทุกข์เวทนาที่เกิดก็เพราะร่างกายเจ็บปวดด้วยอาการของการยึดมั่น ถือมั่นว่านี่เรา นี่ของเรา จึงเกิดความเจ็บปวด แต่เมื่อปวดผ่านไปสักพักก็หายปวด ธรรมก็แสดงความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ไม่นาน สุดท้ายก็ดับไปตามกาล ฉันใดฉันนั้น... ก็ประมาณนี้ส่วนธรรมที่เกิดของแต่ละบุคคลก็ไม่เหมือนกันแต่สรุปลงตรงกัน ในส่วนของอิทธิฤทธิ์ปาฏิหารณ์นั้นอยู่ที่ความตั้งมั่นของใจ (ไม่ขออธิบาย)
             ในการทำสมาธินั้นไม่ได้เน้นที่ท่าทางหรือวิธีการใด ๆ แต่เน้นที่ใจเป็นหลัก จะนั่ง ยืน เดิน นอน ท่าไหนก็ได้ นั่งชูสองนิ้ว ก็ได้ เดินเร็ว เดินช้าก็ได้ วิ่งยังได้เลย (การวิ่งได้ผลดีสำหรับผู้ที่ปัญญาไว คิดมาก) คือในทางปฏิบัติไม่เน้นท่าทางนะ เน้นการเข้าถึงเป็นสำคัญ เอาอารมณ์ใจเข้าว่า ในการทำสมาธิไม่ได้วัดกันที่นั่งทน นั่งอึดนะครับ เน้นอารมณ์ใจเป็นสำคัญ ฝืนบ้าง ปล่อยบ้าง ลองดูว่าฝืนขนาดไหน ปล่อยขนาดไหนเหมาะกับเรา และอีกอย่างตอนนั่งมักคิดมาก อันนี้ไม่ต้องกังวล ก็ปล่อยตามสบายคิดบ้าง หยุดบ้าง เพราะบางทีเราตั้งใจจะตั้งมั่นกับคำบริกรรมแต่ใจก็ไม่หยุดคิด วิธีปฏิบัติท่านบอกให้ทำ 2 ทาง คือ ถ้านั่ง ๆ ไปมันยังคิดไม่เลิก เราก็พยายามหักห้ามให้กลับมาบริกรรมก็ยังไม่เลิกคิด ถ้าหนักเข้า ๆเราก็เลิกนั่งสมาธิเลย เพราะถ้าฝึนมาก ๆ อาจเป็นบ้าได้ ส่วนอีกวิธีถ้ามันคิดมากก็ตามน้ำไปมันคิดอะไรก็ตามมันไป ไม่ต้องห่วงเรื่องสมาธิหรือคำบริกรรม เพราะถึงที่สุดมันก็จะกลับมาหากายดังเดิม (อันนี้เสียเวลาหน่อย เพราะบางทีเบรกแตกเอาไม่อยู่แต่ยังไม่อยากเลิก) อันนี้เป็นจริตของแต่ละบุคคล บางคนกายดิ้นจิตสงบ บางคนกายสงบจิตถึงสงบ ก็ต้องดูตัวเราเองว่าเราอยู่ในส่วนไหน
              ในเรื่องวิชา หรือวิธีการก็ทำตามพระอาจารณ์ท่านว่าถูกแล้วอย่าง วิชาธรรมกาย วิชามโนมยิทธิ ยุบหนอ สติปัฏฐาน อาจารย์เหล่านั้นท่านสอนถูกต้อง ทำได้ตามท่านว่าก็ถึงตามนั้น ดีทุกวิชาเอาเราเองเป็นหลักความรู้สึกเราเป็นเกณฑ์ ชอบวิชาไหนวิชานั้นก็จะง่าย และเร็วสำหรับเรา แต่ต้องเอาใจเราเป็นเกณฑ์นะไม่ใช่เห็นเขาได้ ก็อยากได้มั่ง อย่างนี้ยากหน่อยแต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่ได้
              ว่าถึงเรื่องอารมณ์การฝึกสมาธิท่านว่าทำได้ 2 แบบ คือ แบบจับอารมณ์ กับแบบปล่อยอารมณ์ แบบจับอารมณ์ก็เช่น การบริกรรมต่าง ๆ สวดมนต์ ฝึกกสิน หรือวิชาต่าง ๆ ส่วนอีกแบบเป็นการปล่อยอารมณ์ไม่เน้นจับส่วนใด ๆ รับรู้แล้วปล่อยวาง รับรู้แล้วปล่อยวาง สิ่งที่เกิดขึ้นกับร่างกาย จิตใจ เป็นเพียงผู้รับรู้แล้วก็ปล่อยวางความรับรู้นั้นลง ให้อารมณ์ดิ่งลงไปเรื่อย ๆ ทั้งสองวิธีดีพอกันขึ้นอยู่กับจริตของผู้ฝึกเองว่าชอบแบบไหน ผลต่างกันนิดหน่อยแต่ถึงจุดหมายเหมือนกัน
               ก็ขอจบเกี่ยวกับการฝึกสติปัฏฐานและการทำสมาธิเท่านี้ก่อน พอเป็นแนวทางเอาตัวรอดได้สำหรับผู้ต้องการฝึกหรือผู้เริ่มฝึก อยากฝึกให้ได้ผลจริง ๆ ต้องมีจุดหมายชัดเจน ทำอย่างต่อเนื่อง และที่สำคัญคือต้องทำถูกทางไม่อย่างนั้นก็เหนื่อยหน่อย วันหลังจะมาเล่าเรื่องสมาธิแก้กรรมเป็นอย่างไร แก้กรรม ตัดกรรม ลดกรรมได้จริงไหมถ้าไม่ลืมนะ



                                                                           กลับ