ทานะบารมี

การทำทานหรือการบริจาคทานพระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า การทำบุญด้วยการให้คือทาน เป็นบุญสูงสุด หลายท่านอาจสงสัยอะไรเป็นทาน อะไรไม่เป็นทาน ให้ทานอะไรได้ผลบุญมากที่สุด ผมก็จะมาแนะนำให้สำหรับท่านทั้งหลายที่จะได้รับประโยชน์จากการอ่านครั้งนี้ ส่วนใหญ่แล้วผมก็จะแนะนำให้สำหรับพวกขี้เกียจแต่อยากดี ทำน้อยให้ได้มาก ทำมากก็จะได้มากกว่าเดิมเป็นเท่าทวี ก็ลองอ่านๆดู

ทานแบ่งตามลักษณะ
แบ่งตามวัตถุ
แบ่งตามจิตใจ

ทานแบ่งตามวัตถุ ได้แก่ เงินทอง ของใช้ต่างๆ โบสถ์ วิหาร ศาลา หลังคา ที่ดิน ไม่ว่าจะเป็นอะไรที่จับต้องได้ รวมทั้งร่างกาย เลือดเนื้อ อวัยวะต่างๆ ก็รวมอยู่ในหมวดนี้

ทานแบ่งตามจิตใจ อันนี้ต้องคุยกันละเอียดหน่อยเพราะอาจเกิดการเข้าใจคลาดเคลื่อนได้ ทานที่แบ่งตามจิตใจแยกได้ตามกำลังของพรหมวิหาร 4 คือ เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา เรียงลำดับกันขึ้นไปเราก็จะมาว่ากันทีละตัวเริ่มจาก

เมตตา คือ ทานในการให้ความรัก อันนี้น่าจะไม่ยากนะก็ขออธิบายเรื่องความรักหน่อยนึง เพราะเรื่องความรักนี่ เกิดตายกันเยอะ เกิดก็เพราะรัก ตายก็เพราะรัก ทั้งหนัง ละคร เพลง ก็หนีไม่พ้นเรื่องความรัก การให้ทานเมตตาหรือความรักนี้ ที่ถูกต้องแล้วควรให้โดยไม่หวังผลสิ่งใดกลับมา ให้คือให้ ให้แล้วก็แล้วกันไป อย่างนี้เขาเรียกว่า"รักแท้" ผู้ใดหวังได้พบรักแท้ต้องให้โดยไม่หวังผลได้กลับมาจึงจะพบรักแท้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ยากที่เราทั้งหลายจะทำได้กันแต่ก็ให้จำไว้ว่า รักแท้เป็นแบบนี้ ทำอย่างนี้ก็แล้วกัน แล้วให้ความรักนั้นมีอะไรบ้างก็เช่น เราให้ความรักต่อพ่อแม่ สัตว์เลี้ยง เพื่อน มิตร แฟน ต้นไม้ ป่าเขา ประเทศชาติ ฯลฯ หรืออย่างพวก ดารา นักร้อง ศิลปิน ก็ถือว่าเป็นผู้ให้ความรักคือ ให้ความสุข ความบันเทิง ให้ความไพเราะ ความสุนทรีย์ เขาจึงมีคนรักเขามาก

กรุณา คือ ทานการเสียสละ เป็นการปฏิบัติลงมือกระทำอันนี้จะรวมหมวดของการให้ทานทางวัตถุมาด้วย รวมทั้งการเสียสละกำลังกาย กำลังใจ การลงมือช่วยเหลือเกื้อกูลในทุกๆด้าน ทั้งออกเงิน ออกแรง ใช้สติปัญญาเข้าช่วย ทั้งหมดจะรวมอยู่ในหมวดนี้

มุทิตา คือ ทานในการยินดี ทานในการยกย่อง การชื่นชม การสรรเสริญ เมื่อผู้อื่นได้ดี ทำดี หรือประสบผลสำเร็จต่างๆ อย่างที่เราท่านทั้งหลายเคยได้ยินกันที่ว่า "ขออนุโมทนาด้วยนะ" เป็นบุญกุศลในหมวดนี้ เพราะหลายท่านอาจเคยสงสัย ไปทำมันก็ไม่ไป ไปช่วยมันก็ไม่ไป ให้ออกอะไรมันก็ไม่ออก เขาไปทำไปช่วยแล้วมาบอก มันบอกแค่อนุโมทนาด้วยนะ แค่นี้มันก็ได้บุญแล้วหรือ ผมตอบว่าได้แน่นอนครับเพราะอยู่ในหมวดของมุทิตาคือทานในการยินดีที่ผู้อื่นได้กระทำความดีมา ก็คงจะพอตอบข้อสงสัยที่หลายต่อหลายท่านสงสัยมาได้กระจ่างแจ้งพอสมควรแล้ว ฟังดูเหมือนง่ายแต่มันไม่ง่ายอย่างที่คิดนะครับ ถ้าเกิดเป็นคนที่เราเกียจ ไม่ชอบ แล้วเขาประสบความสำเร็จหรือได้รับชัยชนะ เราจะยินดีกะเขาไหม เราจะชื่นชมเขาไหม เราจะสรรเสริญเขาไหม เรายินดีจากปากหรือยินดีจากใจ นี่แหละครับบางทีมันก็ไม่ได้ง่ายอย่างที่คิดๆกันนะครับ

อุเบกขา คือ ทานในการวางเฉย อันนี้พูดง่ายอธิบายยากและเป็นข้อสำคัญการจะถึงจุดหมายปลายทางหรือนิพพานต้องมีข้อนี้เป็นข้อสำคัญ ทานในข้อนี้ต้องใช้ปัญญาเข้าช่วยมาก ทานทุกข้อทั้งหมดที่กล่าวมาไม่ว่าจะเป็นทานทางวัตถุ ทานเมตตา ทานกรุณา ทานมุทิตา ต้องมีทานอุเบกขาเข้าประกอบกับทานทั้งหมด อธิบายเช่น การให้ทรัพย์ตามกำลังเรามีเงินหนึ่งร้อยบาท เราก็แบ่งสำหรับให้ทาน ยี่สิบบาท เหลือไว้กินไว้ใช้แปดสิบบาท ถ้าเขาขอให้เราบริจาคเพิ่มถ้าเราไม่ไหวเราก็วางเฉยเสียเพราะให้เกินกว่านี้เราอดถ้าเรายังให้ได้อยู่อีกก็ให้ นี้ก็คือทานอุเบกขา พระท่านว่ามนุษย์นี้เปรียบเป็นบัว 4 เหล่า ช่วยได้ก็ช่วยถ้าอันไหนช่วยไม่ได้ก็ให้เฉยเสีย หรือถ้าช่วยไปก็ไม่ดีขึ้น หรือช่วยไม่ได้ ท่านว่าให้วางเฉยก็เป็นทานอย่างหนึ่ง ต้องใช้ปัญญาอย่างมากสำหรับทานข้อนี้เป็นข้อที่ละเอียดและรอบคอบมาก เป็นข้อหลักของทั้งหมดสามข้อที่กล่าวมา อธิบายเพิ่มเติมก่อนกลัวจะไม่เข้าใจกัน คือ ตัวเราต้องถืออุเบกขาเป็นหลักเพราะเป็นตัวเกิดปัญญา ว่าจะใช้เมตตาดี จะใช้กรุณาดี จะใช้มุทิตาดี หรือจะใช้อุเบกขาดี ในการให้ทานแก่เหตุนั้นๆ ให้เท่าไร ให้มาก ให้น้อย เพื่อให้ตรงกับมัชฌิมา คือทางสายกลาง  ไม่ลำบากผู้ให้ ไม่สบายผู้รับ

สรุป การให้ทุกอย่างทุกข้อต้องมีอุเบกขากำกับไว้ ทานเมตตาก็ต้องมีอุเบกขา เมตตามากสงสารเกินจิตใจก็เศร้าหมอง หดหู่ ทานกรุณาก็ต้องมีอุเบกขากำกับไว้ เสียสละมากเกินเราก็เดือดร้อนให้เท่าไรไม่รู้จักพอ จักจบ ต้องเดือดร้อนไปหามาช่วยหามาช่วยได้ก็ดี หามาช่วยไม่ได้ก็ทุกข์อีกก็ต้องมีอุเบกขาเป็นตัวกำกับไม่ให้เกินพอดีไป ส่วนทานมุทิตานี่ยินดี สรรเสริญเกินไปคนเขาก็จะหมั่นไส้ เข้าขั้นเกียจได้ ท่านก็ให้เอาอุเบกขากำกับไว้ สรรเสริญ ยินดี ชื่นชมแต่พองาม ไม่มากไม่น้อยเกิน ทานอุเบกขาก็ต้องมีอุเบกขากำกับไว้ ไม่งั้นมันจะนิ่งเกินไม่สนใจใคร ไม่สนใจโลก ก็ต้องเอาอุเบกขากำกับไว้

ทีนี้ท่านทั้งหลายก็พอได้รู้กันแล้วว่าทานชนิดไหนแบบไหนให้ผลมากที่สุด ทานวัตถุตายไปก็ได้เป็นเทวดา ให้พรหมวิหารตายไปก็เป็นพรหม ความจริงทานทั้งหมดมันก็รวมอยู่ในทานพรหมวิหารอยู่แล้วเพียงแต่เรารู้หรือไม่รู้ เราแยกไม่เป็น รู้แล้วเข้าถึงหรือไม่เท่านั้น คือเรื่องบุญเรื่องกุศลนี่นะเขานับตรงที่ว่า รู้หรือไม่รู้ ถึงไม่ถึงเพราะสิ่งเหล่านี้เราท่านก็ทำกันอยู่ทุกวันๆ แต่ไม่รู้ว่ามันคือบุญ รู้แต่ว่าการทำบุญคือการไปวัด ใส่บาตร หยอดเหรียญ ฟังเทศ ฟังธรรม การนั่งสมาธิ นอกจากนั้นก็ไม่รู้ว่าเป็นบุญหรือเปล่าก็ทำให้เสียโอกาสไป สมมุติอยู่ๆเกิดตายขึ้นมาขณะนี้ จิตวิญญาณไปยังนรกเพื่อรอการตัดสินโทษ ทีนี้เรื่องใหญ่หละวัดก็ไม่ค่อยเข้า เหล้าก็กินทุกวัน พนันเอามั่ง ผู้หญิงนี่อย่างให้บอก สัตว์นี่ฆ่าเป็นว่าเล่น มีชีวิตก็พูดเรื่อยเปื่อย โกหกมั่งไรมั่งตามเรื่องไป มาถึงตอนตัดสินโทษแล้วทีนี้เราจะเอาอะไรมาแก้หละเพราะบุญที่คิดถึงมีน้อยเกิน ถ้าท่านยมบาลถามก็ตอบท่านไปเลยว่า บุญผมทำทุกวันผมทำบุญให้ทานในพรหมวิหาร 4 ตลอดก็ตอบตามที่ผมอธิบายไปนี่แหละ คือท่านได้ปฏิบัติพรหมวิหารเป็นนิจ ท่านระลึกรู้ทุกวัน เป็นประจำ แล้วโทษที่ไหนจะมีกับท่านยังไงท่านก็ได้เป็นพรหม เมื่อท่านได้เป็นพรหมแล้วทีนี้ก็สบายเพราะอะไร ก็ถ้าเอาสำเร็จเร็วเมื่อพระศรีอาริยะเมตตรัยมาเกิด ท่านก็โดดตามลงมาให้ไวเลย ฟังธรรมจากท่าน ก็จะสำเร็จโดยง่ายเข้านิพพานโดยไว ถ้าท่านทำบุญทำทานแบบไม่รู้เรื่องท่านก็ได้เป็นเทวดา แต่การเป็นเทวดานี้อายุขัยมันน้อย คิดว่าคงเกิดตายอีกหลายรอบแล้วจะจำวิธีการทำบุญทำทานได้หรือเปล่าก็ยังไม่รู้ นี่ยังไม่รวมถึงไปเกิดเป็นสัตว์อีก คงขึ้นๆลงๆหลายเที่ยวหาที่แน่นอนยังไม่ได้ ถ้าได้อ่าน ได้ฟัง ได้ทำตามที่ได้กล่าวมานี้โอกาสรอดก็สูง โอกาสสำเร็จก็มาก ด้วยประการฉะนี้.